แม้ว่าขณะนี้เกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางที่มีเสียงตอบรับมากและขยายวงกว้างขึ้นทั้งการผลิตและการบริโภค ด้วยวันนี้ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างตระหนักในคุณค่ามากขึ้น และจำนวนผัก ผลไม้ปลอดสารพิษมีมากมายขึ้นก็ตาม แต่ในประเทศไทยเรานั้น การเจ็บป่วยของผู้คน และอัตราการเป็นโรคอันสืบเนื่องมาจากการบริโภคเกิดการสะสม อย่างโรคมะเร็ง ก็มิได้ลดน้อยลง ซ้ำยังพบมากขึ้นแม้ในผู้คนที่อายุน้อย อีกทั้งสถิติการนำเข้าสารเคมีการเกษตรที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ก็ยิ่งเป็นคำถามว่าเรามีความเสี่ยงกับสารพิษในอาหารลดลงแล้วจริงๆหรือ
ข้อมูลจากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่าประเทศไทยมีเนื้อที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลกแต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก รวมถึงการสุ่มตรวจผักในท้องตลาดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อกลางปี 2553 ที่พบสารเคมีตกค้างในผัก และสารเคมีพิษอันตรายที่ทั่วโลกห้ามใช้ นับเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีนัก สารเคมีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกษตรกรเท่านั้นที่จะได้รับอันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อมีการใช้อย่างเข้มข้น และในปริมาณมาก จะปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และสะสมอยู่ในสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ ในห่วงโซ่อาหาร ที่สุดสะสมอยู่ในคนเมื่อคนกินอาหารนั้นๆ แต่จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับชนิด และปริมาณของสารเคมีพิษเหล่านั้น ซึ่งการเกิดอาการจะขึ้นอยู่กับฤทธิ์ความรุนแรงของสารเคมีด้วย
ประเภทที่ออกฤทธิ์เฉียบพลัน | ก่อให้เกิดอาการ วิงเวียนศรีษะ ตาพล่า คลื่นไส้ อาเจียน |
ประเภทที่ออกฤทธิ์สะสม | ก่อให้เกิดเนื้องอก มะเร็ง เปลี่ยนแปลงตัวอ่อนในครรภ์แม่ เกิดความผิดปกติ พิการ หรือภาวะแท้ง |
ขณะนี้ได้มีการเรียกร้องจากภาคประชาชนไปยังกระทรวงเกษตรฯ ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีพิษอันตราย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้แต่ยังมีการใช้ในประเทศไทย สารเคมีพิษกลุ่มนี้ใช้กับพืช ผัก ผลไม้ หลายชนิดที่เราบริโภคในชีวิตประจำวัน เราลองมาดูพิษภัยของสารเหล่านี้ เพื่อเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกบริโภคยิ่งขึ้น
ชื่อสารเคมี |
วัตุประสงค์ของการใช้ |
กลุ่มพืชที่ใช้ |
ความเป็นพิษของสารเคมี |
---|---|---|---|
คาร์โบฟูราน |
กำจัดแมลงในวงกว้าง ทั้งหนอนกอ หนอนเมลงวัน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฯลฯ |
ข้าว แตงโม ข้าวโพด มะพร้าว ถั่วเหลือ ถั่วฝักยาว แตงกวา กาแฟ ส้ม ฯลฯ |
อาเจียน เสียการทรงตัว มองไม่ชัด เป็นสารก่อมะเร็งรุนแรง เซลล์ตับแบ่งตัวผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดเนื้องอก กลายพันธุ์ อสุจิตาย ทำลายเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มสมอง |
เมโทมิล |
กำจัดแมลงหลายประเภท เช่น แมลงปากกัด ปากดูด เพลี้ย และหนอนชนิดต่างๆ |
องุ่น ลำไย ส้มเขียวหวาน สตอเบอร์รี่ กระหล่ำปลี หัวหอม มะเขือเทศ ฯลฯ |
คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ชัก พิษต่อหัวใจ ฮอร์โมนเพศชายลดลง ทำลายท่อในลูกอัณฑะ ทำลายดีเอ็นเอ ทำให้โครโมโซมผิดปกติ เป็นพิษต่อม้าม |
ไดโครโตฟอส |
กำจัดแมลงประเภทปากดูด เจาะ หรือกัดในพืชผักผลไม้ |
ข้าว กาแฟ ถั่วฝักยาว ผักกาดหัว อ้อย คะน้า ส้ม ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ฯลฯ |
พิษต่อยีน กลายพันธุ์ เกิดเนื้องอก ก่อมะเร็ง พิษต่อไต พิษเรื้อรังต่อระบบประสาท ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง เจ็บเหมือนเข็มแทง มือเท้าอ่อนล้า |
อีพีเอ็น | ใช้เป็นหัวยาและผสมกับสารเคมีเกษตรชนิดอื่นๆ ในการเพาะปลูก เพื่อกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกอข้าว แมลงดำหนาม | ข้าว ข้าวโพด พืชตระกูลแตง ไม้ผล ไม้ดอกไม้ประดับ | ท้องเสีย แน่นหน้าอก มองไม่ชัด สูญเสียการทรงตัว ไอ ปอดปวม หยุดการหายใจ ทำลายระบบประสาท ไขสันหลังผิดปกติ น้ำหนักสมองลดลง |
อาจจะเป็นเรื่องน่าเศร้าอยู่บ้างเมื่อพื้นที่เกษตรกรรมของเรายังมีการใช้สารเคมีและปนเปื้อนอยู่ในอาหารเป็นจำนวนมาก และได้แต่รอความหวังว่าสารเคมีพิษเหล่านี้จะหมดไปจากแปลงเกษตรบ้านเรา เราควรจะรอต่อไปหรือผู้บริโภคอย่างเราก็มีส่วนร่วมได้ ด้วยการเผยแพร่พิษภัยของสารเคมีที่อาจตกค้างปนเปื้อนในอาหารในคนรอบข้างของเราได้รับรู้ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ผลิต และเราจะมีอาหารที่มีความเสี่ยงน้อยต่อสารเคมีตกค้าง
Cr.http://www.greennet.or.th/article/1097